Monday, October 6, 2008

เจ้าขนยาวตัวน้อยผู้น่ารัก


เหตุผลในการซื้อกระต่าย..มาเลี้ยงของผู้เลี้ยงแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนซื้อด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เหตุเพราะการไปเดินช้อปปิ้งแล้วบังเอิญเจอเจ้าตัวน้อยที่คนขายพยายามนำเสนอด้วยวิธีต่าง ๆ นานา เช่นการนำมาใส่เสื้อผ้า ติดกิ๊ป หรือ ฯลฯ ให้ดูน่ารัก ประทับใจผู้คนที่ผ่านไปมา และเมื่อฟังวิธีการหว่านล้อมจากผู้ขายเพิ่มเติม ด้วยอารมณ์โดยขาดเหตุผล ทำให้ตัดสินใจซื้อกระต่ายน้อยตัวนั้นกลับมาไว้ในครอบครอง โดยไม่รู้เลยว่าคุณต้องมีภาระความรับผิดชอบต่อชีวิตน้อย ๆ ตัวนี้อย่างไร ดังนั้น การจะนำกระต่ายกลับมาเลี้ยงดูไว้เป็นเพื่อนเล่น เพื่อนแก้เหงา อาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะต้องตามอีกด้วย คือ
1. คุณมีเวลาเพียงพอหรือไม่ ที่จะต้องให้เวลา ในการดูแลสุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่ของกระต่าย ตลอดจนให้เวลาในการปล่อยให้กระต่ายได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ นอกเหนือจากที่จะต้องอยู่ในกรงมาเกือบตลอดวันแล้ว
2. กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะ ดังนั้น หากคุณเลี้ยงโดยการปล่อยอิสระ แน่นอน การกัดแทะข้าวของเครื่องใช้ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน และถ้าเกิดปัญหาในกรณีเจ้าต่ายน้อยกัดแทะข้าวของของคุณเสียหาย คุณจะมีวิธีการจัดการกับความโกรธไม่พอใจของคุณอย่างไร แน่นอน คุณอาจจะต้องเพ่งโทษไปที่กระต่ายเป็นประการแรก แต่ถ้าจะพิจารณาให้ดี ควรที่จะรู้เท่าทันถึงนิสัยของกระต่ายว่าเป็นเช่นไร และพยายามหามาตรการในการป้องกันข้าวของเสียหายก่อนที่จะเกิดขึ้นดีที่สุด เช่น การเก็บของรักของหวงไว้ให้พ้นการกัดแทะ ตลอดจนสายไฟฟ้า ควรจะหาวิธีเดินสายไฟให้เรียบร้อยและพ้นจากการกัดแทะของเจ้าต่าย เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของกระต่ายเองและความเสียหายและชำรุดของสายไฟ
3. การจัดการเรื่องสุขอนามัย กระต่ายเป็นสัตว์ที่อึและฉี่ค่อนข้างจะบ่อย หรืออาจจะตลอดทั้งวัน ดังนั้น การทำความสะอาดกับมูลและฉี่ของกระต่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อคุณและกระต่าย
4. การดูแลเอาใจใส่ ในเรื่องของสุขภาพของกระต่าย ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็บ ขน ฟัน การกิน การขับถ่าย ผู้เลี้ยงควรที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ดังนี้
4.1 การกิน อาหารของกระต่ายควรเป็นอาหารที่เหมาะสมกับกระต่าย การที่กระต่ายได้รับอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจะทำให้กระต่ายมีสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรง อาหารที่เหมาะสมกับกระต่ายมากที่สุด คือ หญ้าขนสด แต่ในปัจจุบันในบางพื้นที่ค่อนข้างจะลำบากในการหาหญ้าขนสดให้กับเจ้าต่ายน้อย จึงทำให้มีการผลิตอาหารเม็ดขึ้นมาเพื่อรองรับและก่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงเพราะสามารถหาซื้อได้ง่าย อย่างไรก็ดี การให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวกระต่ายอาจจะได้รับปริมาณสารอาหารบางอย่างที่ไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงควรที่จะต้องเพิ่มในเรื่องของไฟเบอร์หรือเยื่อใยจากผักสด ผักสดทุกชนิดก่อนที่จะให้กระต่ายกิน ควรที่จะต้องนำไปล้างน้ำให้สะอาด หรือแช่ด่างทับทิมประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด และสะเด็ดน้ำให้หมาดที่สุด จากนั้นจึงนำไปหั่นให้กระต่ายกิน สำหรับการให้กระต่ายกินผัก ก็มีข้อควรระวังสำหรับผักบางชนิดที่ไม่สมควรให้กระต่ายกิน เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของกระต่ายได้เช่น แตงกวา แตงล้าน แตงโม ผักบุ้ง หรือ ผักผลไม้ใด ๆ ที่มีน้ำอยู่ในตัวปริมาณที่สูง เพราะถ้ากินเข้าไปมากอาจจะทำให้กระต่ายท้องขึ้นหรือท้องอืด ท้องเสียได้
4.2 เล็บของกระต่าย กระต่ายจะเป็นสัตว์ที่มีเล็บยาวและแหลมคม ดังนั้น เมื่อกระต่ายมีเล็บที่ยาวขึ้นและแหลมคม อาจจะก่อปัญหาให้กับตัวกระต่ายเองเวลาที่เกาตามลำดับ เล็บที่แหลมอาจจะไปข่วนตามลำตัวก่อให้เกิดแผลอักเสบขึ้น หรือแม้กระทั่งต่อผู้เลี้ยงเองอาจจะถูกข่วนให้เกิดบาดแผลจากการอุ้มเล่นได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลและตัดเล็บของกระต่ายที่ยาวอยู่เสมอ ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์/ครั้งในการตัดเล็บของกระต่าย
4.3 ขน กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ในบางขนมีขนที่สั้นนุ่มจนถึงหยาบ ในบางพันธุ์มีขนที่ยาวหรือ ฟูเหมือนตุ๊กตา ดังนั้น จึงควรที่จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลรักษาขนของกระต่ายให้อยู่ในสภาพที่สวยงาม ไม่เกาะกันเป็นสังฆะตัง หรือพันกัน จนเกิดความยุ่งยากในการหวี/แปรงขน ดังนั้นจึงควรที่จะต้องหมั่นดูแลแปรงขนของกระต่ายให้สม่ำเสมอ ประมาณสัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อเห็นว่าเกิดความไม่สวยงามสำหรับขนของกระต่าย ทั้งนี้นอกจากที่จะช่วยให้กระต่ายของคุณสวยงามแล้ว ยังช่วยลดปริมาณของขนที่หลุดร่วงและกระต่ายเลียขนเข้าปากจนเกิดการสะสมของแฮร์บอลอีกด้วย แต่ถ้าหากขนพันกันเป็นกลุ่มสังฆะตังแล้ว อาจจะต้องพิจารณาตัดขนที่เกาะกันเป็นกลุ่มนั้นออก แล้วใช้แปรงค่อย ๆ ช่วยสางออกและเมื่อปมต่าง ๆ คลายตัวออกแล้ว ควรหมั่นแปรงขนเป็นประจำทุกวัน เพื่อความสวยงามของขนใหม่ที่จะยาวออกมาแทนที่
4.4 ฟัน กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะ ดังนั้น ฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระต่ายที่จะใช้ในการบดเคี้ยวหรือแทะอาหาร ดังนั้นถ้าหากฟันกระต่าย เก หรือ ยาว จนไม่สามารถที่จะทำให้ฟันบนและฟันล่างสบกันได้พอดี ก็อาจจะส่งผลให้กับระบบทางเดินอาหารของกระต่ายแย่ไปด้วย เพราะฟันไม่สามารถที่จะบดเคี้ยวหรือแทะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัย ที่ก่อให้เกิดปัญหาฟันยาว หรือ ฟันเก และฟันไม่สบกัน
4.4.1 ปัญหาทางด้านพันธุกรรม เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ การผสมข้ามสายพันธุ์เป็นสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความเสี่ยงต่อปัญหาของฟันกระต่ายมากอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะเนื่องจากคุณลักษณะของกระต่ายบางสายพันธุ์ที่นำมาผสมพันธุ์กัน โครงสร้างอาจจะไม่สอดคล้องกัน เช่น ลักษณะของกะโหลก กระดูกต่าง ๆ จึงส่งผลให้โครงสร้างของฟันมีปัญหาและยื่นยาวออกมา และในบางรายอาจจะยาวและทิ่มเข้าไปในท่อน้ำตาได้ ทำให้ตาอักเสบได้ ยังมีปัจจัยต่าง ๆ พิจารณาเกี่ยวกับพันธุกรรมกระต่าย อีกหลายทฤษฎีที่ยังต้องศึกษาและค้นคว้ากันต่อไป เพราะเรื่องของกระต่ายยังคงมีความเร้นลับอยู่อีกมาก ( สำหรับปัญหาทางพันธุกรรมดังกล่าว เมื่อกระต่ายอายุ 3 เดือนขึ้นไปก็สามารถล่วงรู้ได้แล้วว่ากระต่ายมีปัญหาฟันยาวจากพันธุกรรม )
4.4.2 การกัดแทะของแข็ง และความเครียด ในบางครั้งการกัดแทะของแข็ง ๆ เป็นประจำ เช่น ลวดกรง เหล็ก เป็นต้น อาจส่งผลให้เหงือกของกระต่ายร่นและผิดรูปผิดร่าง ส่งผลให้ฟันยาวและเกไม่สบกัน การดูแลรักษา : หมั่นตัดฟันที่ยาวออก เพื่อช่วยให้กระต่ายสามารถกัดแทะหรือกินอาหารได้อย่างสะดวก วิธีการตัดฟันสำหรับมือใหม่ ควรพากระต่ายไปยังคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ ให้สัตวแพทย์ช่วยตัดฟันที่ยาวออก
4.5 การกิน การให้อาหารกระต่าย ควรให้อาหารควรละ 2 มื้อ เช้าและเย็น ไม่ควรให้ทั้งวัน เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถกินอาหารได้ทั้งวัน ดังนั้น อาจจะส่งผลให้กระต่ายอ้วนมากเกินไปซึ่งอาจจะไม่ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของกระต่าย และจะทำให้มีโรคภัยต่าง ๆ ตามมาภายหลังได้ การให้อาหารในปริมาณที่พอเพียงทั้งสองมื้อนั้น นอกจากจะช่วยให้กระต่ายไม่กินอาหารจนอ้วนแล้ว ยังช่วยให้เจ้าของกระต่ายประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารกระต่ายอีกด้วยเพราะในบางครั้งที่ให้อาหารในปริมาณมาก ๆ กระต่ายอาจจะกินไม่หมด และเมื่อกลิ่นของอาหารจางลง กระต่ายก็จะไม่ยอมกินอาหารต่อและอาหารในถ้วยนั้น ๆ ก็จะต้องถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
4.6 การขับถ่าย ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถขับถ่ายได้ตลอดทั้งวัน ดังนั้น หากวันใดกระต่ายมีความผิดปกติ ขับถ่ายน้อยลง หรือไม่ขับถ่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระต่ายที่มีอายุมาก ๆ ตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป ควรที่จะต้องพินิจพิเคราะห์ให้มาก ๆ และจะเป็นการดีที่จะพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพ เพราะในกระต่ายที่มีอายุมาก ๆ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของทางเดินอาหาร หรือปัญหา Hair ball ที่สะสมอยู่ในลำไส้ อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระต่ายไม่ยอมถ่ายออกมา แต่ก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป เพียงใช้สติพิจารณาในเรื่องการกินของกระต่าย ประกอบกับพฤติกรรมของกระต่ายร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร และไม่กินอาหารตลอดจนไม่วิ่งเล่นหรือทำสิ่งใดนอกเหนือจากนอนซึมเพียงอย่างเดียว ถ้าเกิดอาการดังกล่าว มากกว่า 1 วันให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือกระต่ายได้ทัน อึของกระต่ายสามารถบอกอะไรคุณได้ เช่นกันถึงสาเหตุการป่วยของกระต่าย เช่น ถ้าอึของกระต่ายที่ถ่ายออกมา มีขนของกระต่ายร้อยเม็ดอึออกมาเหมือนกับสร้อยมุก นั่นหมายความว่า ในระบบทางเดินอาหารของกระต่ายเริ่มมีขนสะสมและเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างของอาการ Hair Ball ให้ทราบแล้วทั้งหมดนี้คือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระต่ายค่ะ การเลี้ยงกระต่ายไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด ถ้าผู้เลี้ยงทุกท่านทราบและมีความรู้เกี่ยวกับกระต่ายในเบื้องต้น อย่างเข้าใจก่อนที่จะนำกระต่ายมาเลี้ยงเป็นเพื่อน ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงกระต่ายนะค่ะ
ขอบคุณรูปถ่าย โดย..น้องข้าวเม่า กะ น้องอั่งเปา

1 comment:

  1. น้องกระต่ายน่ารักดีนะ แต่เสียใจด้วยนะ
    เห็นว่ามีตัวหนึ่งตายไปแล้วน่ะ
    เสียใจด้วยนะจ๊ะน้องข้าวปุ้น

    ReplyDelete

ยินดีรับทุกข้อคิดเห็นค่ะ