Saturday, October 18, 2008

คัดค้านอย่างไรให้ดี


คัดค้านอย่างไรให้ดี

Post Today - บริษัทไทยหลายต่อหลายแห่งต้องปรับโครงสร้างการบริหาร โดยนำชาวต่างชาติเข้ามา ผู้บริหารต่างชาติที่มาใหม่ต่างชื่นชมข้อดีหลายๆ อย่างของพนักงานไทย แต่ในทางกลับกัน เขาก็มองเห็นจุดอ่อนบางอย่างของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย ...
จุดอ่อนลำดับต้นๆ ที่ต้องกำจัดก็คือ คนไทยขาดความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ หรือเรียกได้ว่า เราไม่มี assertiveness มากพอ เขามองว่าคนไทยไม่กล้าพูดหรือโต้แย้งเมื่อไม่เห็นด้วย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและตรงไปตรงมา ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ต้องการท้าทายความคิดของผู้อื่น

ทำไมคนไทยจึงเป็นแบบนี้ เรามาพิจารณากันทีละข้อเลยครับ

**ทำไมคนไทยไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่พูด?

-เพราะคนไทยเกรงว่าความคิดเห็นของตนจะไปกระทบตัวบุคคล แล้วจะไปทำลายความสัมพันธ์อันดีที่อยากรักษาไว้ต่อไป คนไทยกลัวว่าจะมีปัญหากับคนอื่น แล้วตนเองจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกให้เมื่อถึงคราวจำเป็น ดังนั้น คนไทยจึงระมัดระวังการกระทำของตนเองมาก โดยแสดงออกมาในรูปของความเกรงใจและให้เกียรติ คนไทยจึงไม่กล้าพูดออกมาเมื่อไม่เห็นด้วย

**ทำไมคนไทยไม่แสดงความคิดเห็นของตนเอง และไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์?

-เพราะไม่มีใครสอนให้ทำ และไม่มีใครคาดหวังให้ทำอย่างนั้น โดยเฉพาะผู้อาวุโสกว่า สังคมไทยไม่คาดหวังให้คนไทยต้องแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

-สภาพแวดล้อมการทำงานของคนไทยมีความคาดหวังให้มีคนคอยบอกว่าต้องทำอะไรและทำอย่างไร

-ในโรงเรียนไทย คนไทยเคยชินกับการเรียนการสอนแบบบรรยายโดยครูเป็นผู้พูดอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนนักเรียนมุ่งอยู่กับการหาคำตอบที่ถูกต้องตายตัว

-เวลาที่ใครก็ตามเสนอความคิดเห็นออกมา ซึ่งอาจจะไม่ดีนัก เพื่อนฝูงและผู้ที่อาวุโสกว่ามักล้อเลียนให้ได้อาย

**ทำไมคนไทยจึงรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องโต้แย้ง หรือท้าทายความคิดเห็นของผู้อื่น?

-เพราะคนไทยถูกสอนมาว่า การกระทำอย่างนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติ

-คนไทยไม่อยากสร้างศัตรู เพราะในวัฒนธรรมไทย การโต้แย้งหรือการท้าทายความคิดเห็นผู้อื่นถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ลองดี และเป็นการโจมตีที่ตัวบุคคลไม่ใช่โต้กันที่ความคิด

-สำหรับคนไทย คำว่า aggressive หรือ ความก้าวร้าว กับคำว่า assertive หรือ ความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ยังเป็นสิ่งคลุมเครือ และถูกมองว่าคล้ายๆ กันอยู่

ผมมีวิธีการในการพัฒนาความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ (assertiveness) มาฝากครับ วิธีที่ว่านี้เป็นการปลูกจิตสำนึก สร้างทักษะ กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงๆ

การปลูกจิตสำนึกเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นการวางทัศนคติและค่านิยมให้กับคนคนนั้น ขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้ครับ

1) ให้ความรู้กับพนักงานไทยว่า การไม่เห็นด้วย ไม่คล้อยตาม มีอะไรก็พูดออกมา และการทักท้วงความคิดของผู้อื่นเป็นสิ่งที่บริษัทคาดหวังจากพนักงานทุกคน ยิ่งถ้าเราได้แลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเสรีมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้ความคิดใหม่ๆ มากเท่านั้น และเรายังได้การมองปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ร่วมกันในที่สุด

2) เชื่อมโยงแนวคิดดังกล่าวให้เข้ากับค่านิยมไทย ผมอยากให้เปลี่ยนมามองว่า การโต้แย้งกันซึ่งๆ หน้าเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติกันมากกว่าการนินทาลับหลัง คนไทยช่างนินทา แต่อย่าลืมว่าคำนินทาไม่ได้หายไปในอากาศ เจ้าตัวที่ถูกว่าลับหลังจะต้องได้ยินเข้าสักวัน ซึ่งจะสร้างความอึดอัดใจให้กับทุกฝ่าย ฉะนั้น มีอะไรก็ควรคุยกันต่อหน้า เปิดเผย ตรงไปตรงมา และสุภาพต่อกัน

2.1) ถ้าเราต้องการรักษาความสงบสุขในที่ทำงานตามแนวทางของไทยเรา เราควรจะสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เอื้อให้พนักงานสามารถโต้แย้งกันได้ในที่ประชุมถ้าไม่เห็นด้วย แทนที่จะเก็บให้ค้างคาใจและอาจรู้สึกไม่พอใจกันตลอดระยะเวลาที่ต้องร่วมงานกัน

2.2) ให้หันมามองว่า ที่จริงการทักท้วงต่อหน้าว่าไม่เห็นด้วยถือเป็นการแสดงน้ำใจของผู้พูด เพราะคนที่รู้ทั้งรู้ว่าคนอื่นผิดพลาดแต่ไม่ยอมบอกถือว่าแล้งน้ำใจ ปล่อยให้ผู้ร่วมงานเดินไปสู่ความล้มเหลว

3) บริษัทกำหนดกติกาพื้นฐานในการทำงานเป็นทีมว่า การโต้แย้งแสดงเหตุผลเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ขอให้ทุกคนยอมรับและยินดีรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือผู้บริหารที่ดีควรจะฝึกให้พนักงานในองค์กรมีความกล้าในทางที่ถูกที่ควร กล้าที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าควรจะมีการฝึกฝนบุคลากรอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้การอบรมเชิงปฏิบัติการ และพยายามสอนให้เขานำไปปฏิบัติจริงด้วย

การกระตุ้นให้พนักงานใช้ทักษะและความกล้าในชีวิตจริงต้องการข้อมูลที่เป็น feedback จากเจ้านายอย่างมาก ผู้บริหารควรส่งเสริม ให้กำลังใจ และแสดงให้เห็นว่าการที่พนักงานมีความกล้าอย่างสร้างสรรค์ หรือ assertiveness นั้นดีอย่างไรต่อตัวเขาเอง ต่อทีม และต่อองค์กรโดยรวมอย่างไรบ้าง

บทความนี้เป็นตอนที่สองที่แปลมาจากบางส่วนของหนังสือเรื่อง "Bridging The Gap : Managing the Cross-Cultural Workplace in Thailand" โดยสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารคนไทยให้มี Assertiveness ได้อย่างไร

"Bridging The Gap : Managing the Cross-Cultural Workplace in Thailand" เขียนโดยผมเอง เป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย Asia Books ในลักษณะปกแข็งในราคา 650 บาท และจะเริ่มวางตลาดปลายเดือนกันยายน 2547 ผู้สนใจโปรดติดต่อร้าน Asia Books สาขาที่สะดวก

เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย เป็นผู้ก่อตั้ง The Coach เชี่ยวชาญด้านการสอนและให้คำปรึกษาด้าน การขาย ภาวะผู้นำ และการทำงานต่างวัฒนธรรม coachkriengsak@yahoo.com

No comments:

Post a Comment

ยินดีรับทุกข้อคิดเห็นค่ะ