Saturday, October 18, 2008

สุดยอดการบริหารสู่ความเป็นเลิศ


สุดยอดการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

Post Today - เมื่อไม่รู้ว่าจะไปจอดเทียบที่ท่าเรือไหนแล้วล่ะก็ ลมไม่ว่าพัดมาจากทิศใด ก็ไม่ใช่ลมที่ถูกต้อง”ซีนีกา เหมือนลมที่พัดนาวาสู่ฝั่งแห่งความสำเร็จ เรื่องราวต่อไปนี้คือเรื่องเล่าจากประสบการณ์อันทรงคุณค่า ของผู้ที่ได้นำนาวาเข้าสู่ฝั่งแห่งความสำเร็จมาแล้ว รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้นำโรงพยาบาลคว้าสุดยอดรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quallity ClassTQC) ปีล่าสุด ...
การบริหารสู่ความเป็นเลิศ

ไม่ใช่รางวัลที่ได้มาง่ายๆ หากเป็นรางวัลที่เป็นสุดยอดแห่งสุดยอดของนักบริหาร ผู้จัดคือสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งจะมอบให้ก็ต่อเมื่อเป็นองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการเป็นเลิศเทียบเท่ามาตรฐานโลก ปีล่าสุด 2550 ไม่มีองค์กรใดได้รับคุณภาพแห่งชาติซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด (Thailand Quality AwardTOA) ส่วนผู้ได้รับรางวัล TQC มีเพียง 2 องค์กรคือ สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. และ รพ.สงขลานครินทร์

“TQA หรือรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับมาตรฐานโลก เนื่องจากมีพื้นฐานด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality AwardMBNQA ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ 70 ประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้” รศ.นพ.สุเมธ กล่าว

ส่วน TQC แม้ไม่เข้มข้นเท่า TQA แต่ถือเป็นการยอมรับขีดความสามารถขั้นสูงในการพัฒนาต่อยอดสู่ TQAต่อไป สำหรับเกณฑ์การบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศ (TQC) มีเกณฑ์พิจารณาดังนี้ 1.การนำองค์กร2.การวางแผนเชิงกลยุทธ์ 3.การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด 4.การวัดการวิเคราะห์และการจัดการความรู้ 5.การมุ่งเน้นบุคลากร 6.การจัดการกระบวนการ และ 7.ผลลัพธ์ทางธุรกิจ ทั้งหมดต้องสอดประสานและสัมพันธ์กันเป็นหลักคิดการทำงาน

รพ.สงขลานครินทร์

รพ.สงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2525 ดำเนินตามนโยบายรัฐที่มุ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยระดับ ตติยภูมิ (โรคยากและซับซ้อน) สำหรับประชากรใน 14 จังหวัดภาคใต้ พันธกิจหลักได้แก่การจัดการรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ พัฒนาโรงพยาบาลให้มีศักยภาพระดับสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะเพื่อรองรับสถานการณ์ภาคใต้ทั้งผู้ป่วยซับซ้อนและผู้ป่วยฉุกเฉิน
“ด้วยระดับคุณภาพการรักษาที่เทียบเท่ามาตรฐานโรงพยาบาลชั้นนำของสหรัฐ เราจึงแทบไม่ได้ยินเรื่องการส่งตัวทหารหรือข้าราชการตำรวจในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมารักษาตัวต่อที่ส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ เลย เนื่องจาก รพ.สงขลานครินทร์มีความสามารถในการรองรับรักษาผู้บาดเจ็บจากกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งหมด” รศ.นพ.สุเมธ เล่าอีกว่าตั้งแต่ 4 ม.ค. 2547ปัจจุบัน มีผู้ป่วยหนักทหารตำรวจในพื้นที่เข้ารับการรักษารวมกว่า 300 รายแล้ว

โรงพยาบาลที่ดีที่สุดของประเทศนี้ ไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง หากกล่าวได้ว่าตั้งอยู่ที่ภาคใต้ จ.สงขลา คุณหมอเล่าถึงผลสำรวจเรื่องความพึงพอใจการใช้ รพ.สงขลานครินทร์ พบว่า ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจสูงสุด 89% (ไม่พึงพอใจ 0.019%) อัตราครองเตียงสูงถึง 87% จากทั้งหมด 853 เตียง ขณะที่ผลการรักษามีอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก คือ 2.5% เท่านั้น

ปัจจัยสู่ความเป็นเลิศ

ความสำเร็จไม่ได้มาชั่วข้ามคืน แต่ทุ่มเทอย่างหนักในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา รศ.นพ.สุเมธ กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ รพ.สงขลานครินทร์ประสบความสำเร็จ คือ 1.การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (มุ่งเน้นคุณภาพQuality Focus) 2.การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Custome Focus) 3.การให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกระดับ (Team work) และ 4.การมีวัฒนธรรมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งจิตสำนึกด้านความเสี่ยงและความปลอดภัย (Risk and safety awareness)

“สำคัญคือเป้าหมายและวิธีการต้องสอดคล้อง สมองและจิตใจต้องไปด้วยกัน แต่สำคัญที่สุดในการนำองค์กรสู่ความสำเร็จคือความมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์” รศ.นพ.สุเมธ กล่าวผู้นำต้องนำอย่างมีวิสัยทัศน์ เราจะไปถึงเป้าอย่างไร สื่อสารกับคนในองค์กรให้ชัด เพราะทั้งหมดจะต้องเดินไปพร้อมกัน

สำหรับผู้ที่จะต้องเดินไป ขวากหนามบนหนทางนั้นมีอยู่แน่ ในช่วงหนึ่ง รพ.ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รพ.สงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มุ่งแสวงกำไร แต่ก็ต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล (25472550) ได้ใช้นโยบายเรียกเก็บค่ารักษาที่ตรงไปตรงมา ปรับปรุงกระบวนการเคลม หรือเรียกเก็บเงินที่ถูกต้องตามจริง

นอกจากนี้ คือการลดค่าใช้จ่ายและความสูญเสียที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้เพิ่มด้วยการเปิดให้บริการนอกเวลา คุรุภัณฑ์เวชภัณฑ์และบุคลากรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ทำให้โรงพยาบาลผ่านพ้นวิกฤต

เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจ องค์กรที่ต้องการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศขอเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศ ที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ 026198086 และ www.tqa.or.th

No comments:

Post a Comment

ยินดีรับทุกข้อคิดเห็นค่ะ